top of page

ตารางมรณะไทย สำหรับการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน


ตารางมรณะไทย สำหรับการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน

สำหรับการ คำนวณผลประโยชน์พนักงาน อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า จะมีสมมติฐานทาง คณิตศาสตร์ประกันภัย ตัวหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้คือ สมมติฐานอัตรามรณะ (Mortality Rate Assumption)

โดยสมมติฐานอัตรามรณะจะอ้างอิงจาก ตารางมรณะไทย (Thai Mortality Ordinary) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคปภ. ตารางมรณะไทยเป็นตารางที่ทำขึ้นโดยการรวบรวมข้อมูลสถิติการมรณะของผู้เอาประกันชีวิต ตามช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 100 ปี จัดทำเป็นอัตรามรณะของบุคคลในช่วงอายุต่าง ๆ ว่า อัตรามรณะในแต่ละช่วงอายุเป็นเท่าไร

ปกติแล้วสำนักงานคปภ. จะประกาศตารางมรณะใหม่ทุก ๆ 10 ปี และในปัจจุบัน เราอ้างอิงสมมติฐานอัตรามรณะจากตารางมรณะไทย ปี 2560 (TMO17) ซึ่งสำนักงานคปภ.ได้มีการประกาศใช้ตารางมรณะฉบับนี้เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา


เดิมที ตารางมรณะมีไว้เพื่อใช้ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันชีวิต แต่ในการ คำนวณผลประโยชน์พนักงาน ได้มีการนำตารางมรณะไทยมาประยุกต์ใช้ในการหาว่า พนักงานแต่ละคนมีโอกาสที่จะทำงานกับบริษัทจนเกษียณอายุเป็นเท่าไร โดยคำนวณร่วมกับสมมติฐานอัตราการหมุนเวียนพนักงาน

ตารางมรณะไทย สำหรับการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน

จากตารางด้านบน เป็นตารางมรณะไทย ปี 2560 (TMO17) แบบสามัญ ในช่วงอายุ 21 – 40 ปี โดยข้อควรระวังในการอ่านตัวเลขในตารางคือ ตัวเลขทั้งหมดในตาราง เป็นจำนวนคนที่จะเสียชีวิตก่อนถึงปีถัดไป เทียบกับจำนวนคน 1,000 คน ตัวอย่างการใช้ตารางมรณะไทยกับการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน


ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายอายุ 21 ปี ในตารางแสดงตัวเลขอัตรามรณะไว้ 1.3901 เท่ากับว่า ผู้ชายอายุ 21 ปี จำนวน 1,000 คน จะมี 1.3901 คน เสียชีวิตก่อนอายุครบ 22 ปี (มีคนจำนวน 998.6099 คน ที่มีชีวิตอยู่จนครบอายุ 22 ปี) หรืออาจจะพูดอีกอย่างว่า ผู้ชายอายุ 21 ปี มีโอกาส 0.13901% ที่จะเสียชีวิตก่อนอายุครบ 22 ปี


และถ้าต้องการคำนวณให้มากกว่านั้น เช่น ผู้หญิงอายุ 21 ปี มีโอกาสมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 25 ปีเท่าไร โอกาสเสียชีวิต และอยู่รอดในแต่ละปีจะเป็นดังภาพ


ตารางมรณะไทย สำหรับการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน

จากภาพ ผู้หญิงอายุ 21 ปี มีโอกาสอยู่รอดถึงอายุ 22 ปี 99.9570% และจากอายุ 22 ปี จะมีโอกาสอยู่รอดถึงอายุ 23 ปีคือ 99.9557%

วิธีการคำนวณโอกาสอยู่รอดจากอายุ 21 ปี ไปจนถึงอายุ 25 ปี จะต้องคำนวณแบบ Conditional Probability หรือคูณโอกาสอยู่รอดแต่ละปี ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงเป้าหมาย (ในที่นี้คืออายุครบ 25 ปี) ดังนั้นโอกาสที่ผู้หญิงอายุ 21 ปีจะอยู่รอด ไปจนถึงอายุ 25 ปี คือ "99.9570% × 99.9557% × 99.9544% × 99.9532% " ซึ่งเท่ากับ 99.8205%


ซึ่งตรงนี้อาจจะเอาไปขยายความต่อไปได้อีกว่า โอกาสที่ผู้หญิงอายุ 21 ปี จะเสียชีวิตก่อนอายุครบ 25 ปี เท่ากับ 100% - 99.8205% เท่ากับ 0.1795%

ประโยชน์อื่นๆของการใช้ตารางมรณะไทยที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน


แต่นอกจากจะนำตารางมรณะไปคำนวณหาโอกาสอยู่รอด หรือ โอกาสเสียชีวิตได้แล้ว ตารางมรณะเองยังสามารถนำไปคำนวณอายุขัยเฉลี่ย หรือ Life Expectancy ได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี การคำนวณอายุขัยเฉลี่ย จำเป็นจะต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับ

หลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ในระดับที่สูงขึ้น และต้องใช้เวลาในการศึกษามากพอสมควร


ดังนั้นผู้ที่สนใจจะคำนวณอายุขัยเฉลี่ยในแต่ละช่วงอายุ สามารถดาวน์โหลด

Worksheet การคำนวณได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้ครับ

ซึ่งวิธีการใช้ Worksheet ก็ไม่ยาก เพียงแค่ใส่อายุ และเพศที่ต้องการคำนวณ

ก็จะทราบอายุขัยเฉลี่ยทันที


 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

Comments


แองเคอ 1
แองเคอ 2
แองเคอ 3
bottom of page