top of page

บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับ IFRS17 ตอนที่ 1 โดย ทอมมี่ แอคชัวรี


บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับ IFRS17 ตอนที่ 1 โดย ทอมมี่ แอคชัวรี

ทราบไหมครับว่าตอนนี้บริษัทประกันภัยโดยเฉพาะนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและนักบัญชีกำลังตื่นตัวกันทั่วโลกกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินตัวใหม่แกะกล่องที่มีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกถกเถียงกันมาเกือบ 20 ปี เกี่ยวกับเรื่อง “สัญญาประกันภัย” ว่าควรจะจัดประเภทอย่างไร วัดมูลค่าอย่างไร หรือเปิดเผยข้อมูลอย่างไร ให้ดูเหมาะสมมากยิ่งขึ้น


บางคนอาจจะถามดังๆ ในใจออกมาว่า “แล้วมาตรฐานตอนนี้มันไม่เหมาะสมหรือ?” ซึ่งถ้าจะฟันธงว่าไม่เหมาะสมนั้นก็คงจะไม่กล้า แต่เอาเป็นว่าเรามาทำความเข้าใจที่มาที่ไปว่าความเป็นมาอย่างไร และมีแนวคิดรวบยอดให้เรานำไปปฏิบัติอย่างไรบ้าง


เริ่มต้นจาก?

ก่อนอื่นต้องขออ้างถึงก่อนว่า มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้เขียนโดยนักบัญชี ซึ่งมีจำนวนอยู่กว่า 300 หน้า ทำให้ภาษาส่วนใหญ่เป็นภาษาของนักบัญชี และจะเป็น Principles-based Accounting (ไม่ใช่ Rules-based Accounting อีกต่อไป) ทำให้การอ่านมาตรฐานฉบับนี้ ต้องอ่านด้วยดวงตาที่สาม เพื่อตีความถึงหลักการที่ควรจะเป็น และการนำหลักการไปปฏิบัติอีกทีให้เหมาะสม


ดังนั้น เวลาอ่านมาตรฐานฉบับนี้แล้ว ก็ควรจะพยายามทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ว่า “ทำไปเพื่ออะไร” ไปด้วยครับ เพราะมาตรฐานฉบับนี้เป็นการเปลี่ยนพื้นฐานและวิธีคิดของสัญญาประกันภัยทั้งหมด (เป็น Fundamental Change) เรียกว่าเป็น Lifetime Event ที่ 100 ปี จะมีการเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้หนนึง (ขนาดถกเถียงกันมาจนสรุปกันได้ ก็ใช้เวลาไปเกือบ 20 ปีไปแล้ว) ยิ่งเป็นทางฝั่งของธุรกิจประกันชีวิตก็จะมีผลกระทบมากๆ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างแรกก็คือการรับรู้รายได้ที่จะลดลงไปมาก (แต่กำไรยังเท่าเดิม) และการเปลี่ยนวิธีรับรู้รายได้ ซึ่งทำให้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเบี้ยประกันภัยทางฝั่งวินาศภัยได้


ทำไมถึงเปลี่ยน?

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ ซึ่งเรียกว่า IFRS4 สัญญาประกันภัยนั้น ยังมีข้อกังขาอยู่หลายประเด็นที่ทำให้นักลงทุนหรือคนที่อ่านงบการเงินยังคลางแคลงใจอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น การที่มาตรฐานเปิดกว้างให้ใช้หลักการทาง Generally Accepted Accounting Principles (GAAP) ของประเทศตนเองได้ ซึ่งนั่นก็แปลว่าประเทศใครประเทศมัน


จึงไม่แปลกเลยว่า มาตรฐาน IFRS4 ของประเทศไทย (เรียกว่า TFRS4) นั้น มีความแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ค่อนข้างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วิธีการคำนวณสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ยังแปลกตาไม่เหมือนใคร


นอกจากนี้แล้ว มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่องสัญญาประกันภัยในปัจจุบัน ยังเปรียบเทียบบริษัทประกันภัยด้วยกันเองยากอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทประกันชีวิตด้วยกันเอง ยังไม่สามารถเปรียบเทียบกันเองได้ด้วยนิยามเฉพาะของตัวเอง รวมไปถึงการลงบัญชีต่างๆ ยังค่อนข้างแตกต่างกัน ซึ่งก็ยังส่งผลให้เปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นไม่ได้ด้วย


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทประกันชีวิตรับเบี้ยประกันชีวิต 1 ล้านบาท ถ้าจัดประเภทเป็นสัญญาประกันภัย (Insurance Contract) ก็สามารถจะนำตัวเลข 1 ล้านบาท ใส่เข้าไปในงบการเงินและรับรู้เป็นรายได้ทั้งก้อน แต่ถ้าเงิน 1 ล้านบาทนั้นไปถูกใส่ในธนาคารเป็นเงินฝากนั้น ธนาคารจะไม่สามารถนำตัวเลข 1 ล้านไปเป็นรายได้ แต่จะลงบัญชีได้เฉพาะค่าธรรมเนียมเท่านั้น และด้วยปรากฎการณ์แบบนี้เอง จึงทำให้การขายประกันผ่านทางธนาคารนั้นสามารถรับรู้ยอดขายได้ทั้งก้อน ซึ่งปรากฎให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอว่ายอดขายพุ่ง และเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแบบประกันที่เน้นไปทางสะสมทรัพย์ ที่สามารถรับรู้ทางอ้อมในส่วนของเงินฝากไปเป็นรายรับด้วย (ต่างกับธนาคารจะไม่สามารถรับรู้เงินฝากที่ได้รับมา มาเป็นรายได้เลย เพราะอนุญาตให้นำค่าธรรมเนียมมาเป็นรายได้เท่านั้น)


สรุปแล้ว เมื่อนำมาตรฐานตัวใหม่นี้มาใช้แล้ว งบการเงินของธุรกิจประกันชีวิต จะสามารถเปรียบเทียบกับธุรกิจประกันวินาศภัยได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ได้อีกด้วย


เริ่มเมื่อไร?

ก่อนจะลงลึกไปกว่านี้ เรามามองว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้เริ่มเตรียมพร้อมกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้อย่างไรบ้าง โดยมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (IFRS) ต่างๆ ได้มีมติมาจาก International Accounting Standards Board (IASB) ซึ่งมาจากทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ประเทศในแถบนี้ตื่นตัวกันมาก โดยตอนนี้มีข้อตกลงร่วมกันและได้เลื่อนวันเริ่มใช้จากวันที่ 1 มกราคม 2564 ไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2566 ส่วนในเอเชียเองนั้น ก็จะมี มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ที่ได้ยินมาว่าจะเริ่มพร้อมๆ กับทางฝั่งยุโรป แถมประเทศจีนก็มีการแปลมาตรฐานฉบับนี้ในภาษาของเขาเองอีกด้วย ส่วนอินเดียนี่มาแรงและแปลกกว่าเพื่อน เพราะอยากจะประกาศใช้ก่อนเพื่อน ซึ่งหากทำได้จริง ประเทศอินเดียก็จะเป็นประเทศแรกของโลกเลยทีเดียว


อีกประเทศที่ต้องจับตามองก็คือ สหรัฐอเมริกา ที่ไม่เอาด้วยกับ IFRS17 เลย แต่จะยังยึดถือมาตรฐานของเขาเอง ที่เรียกว่า U.S. GAAP (Generally Accepted Accounting Principles) ที่อเมริกาเองใช้กันมานมนานครับ (เลยไม่ยอมเปลี่ยน แถมเคยประกาศออกมาว่าจะทำ U.S. GAAP phase 2 ออกมาข่มอีก ซึ่งคนนำมาปฎิบัติคงสนุกกันน่าดูเลยครับ เพราะต้องเข้าใจทั้งสองมาตรฐานนี้ไปพร้อมๆ กัน)


กลับมาที่ประเทศไทยกันดีกว่าครับ โดยของประเทศไทยนั้น จะใช้หลังจากที่คนอื่นใช้กัน 1 ปี ซึ่งก็คือ จะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2567 แต่อย่าเพิ่งดีใจไปว่ามันยังอีกห่างไกล เพราะเวลาจะนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่มาใช้นั้น ไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ ก็โผล่ตัวเลขใหม่มาเลย มันจะต้องมีการเปรียบเทียบกับตัวเลขของงบการเงินในปีที่ผ่านมาด้วย (เพราะการดูตัวเลข ไม่ได้ดูที่ผลลัพธ์ในตอนนั้น แต่ต้องดูถึงการเปลี่ยนแปลงและทิศทางจากปีที่ผ่านมาด้วย นั่นจึงถือเป็นการอ่านงบการเงินที่แท้จริง) นั่นก็แปลว่า ถ้าจะต้องเริ่มใช้กันวันที่ 1 มกราคม 2567 นั้น เราจะต้องมีตัวเลขของปี 2566 มาให้เปรียบเทียบด้วย ซึ่งแปลความอีกทีว่า ประเทศไทยนั้นจะต้องทำตัวเลขงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินตัวนี้ ที่ ไตรมาส 1 ปี 2566 นั่นเอง ซึ่งก็ถือว่าเรามีเวลาให้เตรียมตัวไม่นานนัก ที่ปลายปี 2565 ควรจะต้องเตรียมพร้อมให้เสร็จ เพราะถ้าใครที่เป็นนักบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เคยนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินไม่ว่าจะฉบับไหนก็ตามมาปฏิบัติใช้ในตอนแรก ก็จะรู้เลยว่าเวลาที่เหลือให้เตรียมตัวนั้นผ่านไปไวมาก จนไม่ทำให้เรามีโอกาสได้เตรียมตัวเลย ราวกับกระพริบตาส่องกระจกแว๊บเดียว ไม่ทันได้เตรียมตัวอะไร ตีนกาก็ขึ้นซะละ


บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับ IFRS17 ตอนที่ 1 (ต่อ) โดย ทอมมี่ แอคชัวรี

5 ประเด็นของมาตรฐานตัวใหม่ที่เข้าถึงความต้องการของผู้ใช้งบการเงินได้มากขึ้น

เมื่อสอบถามไปทางผู้สอบบัญชีทั่วโลกแล้วจะได้รับความเห็นพ้องกันว่า การลงบัญชีของธุรกิจประกันภัย (Insurance Accounting Standards) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังมีความไม่ต่อเนื่อง (Inconsistent) ไม่เหมือนกัน (Non-uniform) และ ไม่โปร่งใส (Non-transparent) ทำให้ความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัยยังมีไม่มากเท่าที่ควร (ดังจะเห็นหุ้นประกันของบ้านเรา เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง อาจเพราะส่วนหนึ่งมาจากงบการเงินที่แกว่งไปมา)​


มาตรฐานตัวใหม่จึงต้องการทำให้เป็นวิธีการที่เหมือนกัน (Single Accounting Approach) ดังนี้

ประเด็นที่ 1 Provide up-to-date market consistent information of obligation including value of option & guarantee : สมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยต่างๆ ที่เป็น forward looking มองไปในอนาคตข้างหน้านั้น ควรจะเป็นตัวใหม่สุด (คล้ายกับวิธีการนำสมมติฐานใหม่มาเพื่อคำนวณมูลค่าประเมิน) ที่สอดคล้องกับตลาด โดยต้องอย่าลืมเรื่องเงื่อนไข สิทธิ ที่ไปการันตีให้ลูกค้าไว้ (เรียกว่า Option & Guarantee) เช่น บริษัทประกันชีวิตสัญญากับลูกค้าไว้ว่า เงินที่ฝากกับบริษัทนั้นจะให้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า x% เป็นต้น (ถ้าจะกล่าวกันในเชิงเทคนิคของพวกที่การันตีแบบนี้ มันจะเป็นความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เกิดขึ้นจากการไปการันตี บริษัทเลยต้องทำการคำนวณโดยใช้วิธีแบบ Stochastic Modeling เช่นกัน)

ประเด็นที่ 2 Reflects time value of money : การประมาณการไปข้างหน้าโดยใช้สมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น จะต้องนำกลับมาคิดเป็นมูลค่าเงินปัจจุบัน (Present Value) ด้วย ซึ่งทางบริษัทประกันก็ทำเป็นปกติอยู่แล้ว

ประเด็นที่ 3 Reflects the characteristics of the insurance contract rather than the risk related to asset / investment activity : บริษัทประกันภัยควรจะสะท้อนความเสี่ยงจากตัวสัญญาประกันภัยเท่านั้น ไม่ใช่ไปสะท้อนความเสี่ยงจากทางฝั่งสินทรัพย์หรือจากการลงทุนเข้าไปด้วย

ประเด็นที่ 4 Provides separate information about the investment and underwriting performance: ปกติแล้ว บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย จะมีส่วนประกอบของกำไรอยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรกเรียกว่า Underwriting Profit ซึ่งก็คล้ายกับกำไรจากการดำเนินงาน โดยเกิดจากการพิจารณารับความเสี่ยงเข้ามา และบริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี เลยเกิดกำไรขึ้น และส่วนที่สองเรียกว่า Investment Profit ซึ่งปกติแล้ว บริษัทจะมีการตั้งเป้าว่าแบบประกันตัวหนึ่งๆ ควรจะมีดอกผลจากการลงทุนได้เท่าไร และถ้าบริษัทประกันสามารถลงทุนได้ดอกผลมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะถือว่าเป็นกำไรในส่วนนี้ โดยมาตรฐานใหม่นี้ จะแยกกำไรทั้ง 2 ชนิดนี้ออกมาอย่างชัดเจน เพื่อความโปร่งใสและเห็นส่วนผสมที่มาของกำไรเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน

ประเด็นที่ 5 Treats service provided by underwriting activity as revenue and expense in a comparable way to other non insurance business : ตัวนี้คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการที่ทั่วโลกอยากจะเปลี่ยนเป็นมาตรฐานใหม่นี้ เพื่อที่จะได้ให้บริษัทประกันตั้งนิยามของคำว่า รายรับ/รายได้ และ ค่าใช้จ่าย สามารถเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกธุรกิจประกันภัยได้ ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น เกี่ยวกับเงินฝากธนาคาร เป็นต้น


การแยกส่วนของการลงทุนออกมาจากส่วนของประกันภัย

การแยกส่วนของการลงทุน (Investment Components) ออกมาจากส่วนของประกันภัย (Insurance Components)ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถทำให้ธุรกิจประกันเปรียบเทียบกับธุรกิจของธนาคารได้ ส่วนของการฝากเงิน (Deposit) จึงถูกนำมากล่าวอ้างถึงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวอย่างการเปรียบเทียบระหว่างการฝากเงิน 1 ล้านบาทใส่ในธนาคาร กับการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต 1 ล้านบาท (สำหรับทุนประกัน สมมติที่ 1.1 ล้านบาท) ที่มีการรับรู้รายรับ/รายได้เพื่อบันทึกบัญชีไม่เหมือนกัน


ถ้าใครเคยเห็นมาตรฐานรายงานทางการเงินของสัญญาประกันภัยที่เรียกว่า IFRS 4 (ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) จะเห็นว่าจะมีการแยกประเภทสัญญาที่เรียกว่า สัญญาประกันภัย (Insurance Contract) และสัญญาลงทุน (Investment Contract) อยู่แล้ว ซึ่งเราก็ยังคงใช้หลักเกณฑ์เดิมนั้นได้อยู่ เพียงแต่สัญญาลงทุน (Investment Contract) นี้ จะถูกมองว่าเป็น Distinct Investment Component และอยู่ภายใต้ IFRS9 แทน


ส่วนสัญญาประกันภัย (Insurance Contract) นั้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ภายใต้ IFRS17 แต่ก็ถูกแตกส่วนประกอบออกมาสองส่วน คือ ส่วนของการประกันภัย (Insurance Components) และส่วนของการลงทุน (Non-distinct Investment Components) ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกโฉมอีกจุดหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องนำ IFRS17 มาใช้


ถ้ายกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คงต้องยกตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพ (Whole Life) สมมติว่าทุนประกันภัยคือ 1.5 ล้านบาท และในตอนนั้นมีมูลค่าเวนคืนเงินสด (Cash Surrender Value) อยู่ที่ 1 ล้านบาท เราก็จะนำ 1 ล้านบาทนี้มาพิจารณาว่าเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของเงินฝาก ซึ่งสำหรับ IFRS17 แล้ว ตัว 1 ล้านบาทนี้จะไม่ถูกใส่ในงบกำไรขาดทุนเลย


ถึงแม้ว่า ส่วนของการลงทุน (Non-distinct Investment Components) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยภายใต้ IFRS17 แต่ Investment Component ในที่นี้จะถูกดึงแยกออกมาและไม่ได้แสดงในงบกำไรขาดทุน ในลักษณะที่ IFRS17 เรียกว่าเป็น Disaggregation โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวที่เหมือนเงินฝาก (Deposit Components) จะไม่ได้ถูกใส่ในงบกำไรขาดทุนอีกต่อไป


ส่วนประกอบของงบกำไรขาดทุนภายใต้ IFRS4 มีดังนี้ Premium + Investment Income - Incurred Claims & Benefit - Change in Insurance Contract Liability = Profit or Loss


ในทางกลับกัน ส่วนประกอบของงบกำไรขาดทุนภายใต้ IFRS17 มีดังนี้ Insurance Revenue - Insurance Services Expense (ISE) + Investment Income – Insurance Finance Expense (IFE) = Profit or Loss


ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น IFRS4 หรือ IFRS17 นั้น Profit or Loss + Other Comprehensive Income (OCI) รวมกันก็จะได้ Total Comprehensive Income (TCI) เหมือนเดิมครับ


งบกำไรขาดทุน ที่เปลี่ยนจาก IFRS4 มาเป็น IFRS17 มีดังนี้

บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับ IFRS17 ตอนที่ 1 (ต่อ) โดย ทอมมี่ แอคชัวรี

ใน FRS17 นั้นได้แยกส่วนของการลงทุน (Investment Components) ออกมาจากส่วนของประกันภัย (Insurance Components) ซึ่งต้องอาศัยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาช่วยแยกส่วนประกอบตัวนี้


ในสมัยที่เป็น IFRS4 นั้นเวลาที่บริษัทประกันจ่ายเงินออกจากการที่ผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิต (Death Claim) นั้น ก็จะถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเคลม แต่สำหรับ IFRS17 ที่ต้องลงลึกไปกว่านั้นแล้ว จะต้องแตกส่วนที่เป็นความคุ้มครองที่แท้จริงออกมาเป็นส่วนของประกัน และส่วนที่เหมือนกับการคืนเงินที่ผู้ถือกรมธรรม์ควรจะได้อยู่แล้ว (Release in Cash Surrender Value) ออกมาเป็นส่วนของลงทุน


ยกตัวอย่างเช่น กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทุนประกัน 1.5 ล้านบาท ปรากฎว่าผู้ถือกรมธรรม์เกิดเสียชีวิตขึ้นและมูลค่าเวนคืนเงินสด (Cash Surrender Value) ในขณะนั้นอยู่ที่ 1 ล้านบาท สำหรับ IFRS17 แล้ว เราจะแบ่งเงินที่ต้องจ่ายออกมา 1.5 ล้านบาท ออกมาเป็น 5 แสนจากความคุ้มครอง (ซึ่งก็คือส่วนเกินของทุนประกันที่มากกว่าเงินสำรอง หรือทางศัพท์เทคนิคเรียกว่า Net Amount at Risk (NAR)) และ 1 ล้านบาทที่เป็นการ Release มูลค่าเวนคืนเงินสด (Cash Surrender Value) ออกมาเมื่อผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิต จะถือเป็นส่วนของการลงทุน (Investment Components)


ในตัวอย่างเดียวกัน ถ้าลูกค้าขอเวนคืนกรมธรรม์แล้ว บริษัทประกันชีวิตก็จะต้องมีการจ่ายเงินออก (Cash Outgo) ซึ่ง IFRS17 นั้นจะถือว่าเป็นส่วนของการลงทุน (Investment Components) เช่นกัน


มีอีกจุดหนึ่งที่ตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า ใน IFRS17 นี้ จะไม่มีเบี้ยค้างรับ (Due Premium) หรือ เบี้ยรับล่วงหน้า (Prepaid Premium) อีกต่อไป ในส่วนของการบันทึกรายรับ/รายได้ (Insurance Revenue) จะพิจารณาจากการส่งมอบบริการตามหลักบัญชี (Service on Earned Basis) ซึ่งถ้าทำแบบนี้แล้วจะทำให้สอดคล้องกับธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจประกันภัย


ส่วนการแสดงผลของงบดุล ที่เปลี่ยนจาก IFRS4 มาเป็น IFRS17 มีดังนี้

บทสัมภาษณ์พลิกโฉมธุรกิจประกันกับ IFRS17 ตอนที่ 1 (ต่อ) โดย ทอมมี่ แอคชัวรี

จะเห็นว่า IFRS17 นั้นรวบทุกอย่างเอาไว้เป็น Insurance Contract Assets/Liabilities หรือ Reinsurance Contract Assets/Liabilities ไว้หมด เพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงผลที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบดุลของ IFRS17 นั้นจะไม่ได้มีการแสดงเบี้ยค้างรับ (Premium Receivable) ว่าเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset) อีกต่อไป ทั้งนี้ Acquisition Cost ก็ไม่ได้แสดงออกมาอยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) เช่นกัน หากแต่ เรื่อง Deferred Acquisition Costs ในเชิงเทคนิคของ IFRS17 นั้นจะถูกฝังอยู่ในรูปแบบการคำนวณหนี้สิน (Insurance Contract Liabilities) และถูกทยอยรับรู้ในรูปแบบของหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและฝังอยู่ในส่วนหนึ่งของ Contractual Service Margin (CSM) ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป


 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

แองเคอ 1
แองเคอ 2
แองเคอ 3
bottom of page