top of page

ทำไมต้องตั้งเงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย สำหรับผลประโยชน์พนักงาน




กฎหมายแรงงานตัวใหม่ในตอนนี้ได้กำหนดว่า “การเกษียณ” เท่ากับเลิกจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย พร้อมกำหนดอายุเกษียณเป็น 60 ปี


ดังนั้น อัตราค่าชดเชยตามอายุงานเมื่อทำงานจนถึงอายุเกษียณ คือ อายุงานมากกว่า 10 ปี ได้รับการชดเชย 10 เดือน หรือ 300 วัน หากทำงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 8 เดือน อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน และทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน


ทำให้นายจ้างอาจต้องจัดจ้าง นักคณิตศาสตร์ประกันภัย มาคำนวณตั้งเงินสำรองเป็นเงินกองทุนของบริษัทเพื่อเอาไว้จ่ายลูกจ้างในอนาคต โดยค่าชดเชยเหล่านี้ ถือเป็นการการันตีผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับตอนที่ทำงานจนถึงอายุเกษียณ ซึ่งหลักการก็คล้ายกับการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ การตั้งเงินสำรองจึงสามารถตั้งแบบ คณิตศาสตร์ประกันภัย ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติว่าเรารู้ว่าบริษัทจะต้องจ่ายหนี้ก้อนโตมูลค่า 12 ล้านบาทที่ต้องจ่ายชดเชยพนักงานในอีก 1 ปีข้างหน้า เราอาจจะทยอยตั้งสำรอง เดือนละ 1 ล้านบาท พอเวลาผ่านไปครบ 12 เดือน บริษัทก็จะมีเงินสำรองครบ 12 ล้านบาท เอาไว้พอจ่ายหนี้ครบจำนวนพอดี

ถ้าระยะเวลาเป็นแค่ระยะสั้นๆ แค่ 1 ปี การตั้งสำรองต่างๆ ก็คงจะไม่ยาก แต่ลองคิดตามกันดูครับว่า ถ้าเราเปลี่ยนระยะเวลาจาก 1 ปี ไปเป็นระยะเวลา 20 ปี แล้วจะทำอย่างไร สมมติตัวอย่างเดิม ที่มีหนี้ต้องจ่ายชดเชยพนักงานเป็นจำนวน 12 ล้านบาท แต่ทีนี้เรารู้ว่าจะต้องจ่ายในอีก 12 ปีข้างหน้า เราก็สามารถทำได้เหมือนเดิม คือ ทยอยตั้งเงินสำรองปีละ 1 ล้านบาท และเมื่อครบกำหนด 12 ปี หนี้สินที่บริษัทตั้งสำรองเอาไว้ก็ครบ 12 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ได้พอดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่พนักงานแต่ละคนจะได้รับก็ไม่ใช่ 100% และเรายังสามารถนำเงินไปลงทุนก่อนได้ จึงทำให้เราไม่ต้องทยอยตั้งสำรองปีละ 1 ล้านบาทก็ได้ อาจจะตั้งแค่ปีละ 3 แสนบาท ก็น่าจะเพียงพอ


หลักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือการหาโอกาสความน่าจะเป็นที่จะจ่ายในแต่ละคน รวมถึงการหาอัตราดอกเบี้ยจากเงินกองทุนที่จะทำให้เงินทำงานได้ เพราะโอกาสที่พนักงานแต่ละคนจะได้รับเงินชดเชย ก็ไม่ใช่ 100% และเรายังสามารถนำเงินไปลงทุนก่อนได้ จึงทำให้เราไม่ต้องทยอยตั้งสำรองเต็มจำนวน ซึ่งเงินที่ต้องเตรียมไว้จ่ายค่าชดเชยของแต่ละคนในยามเกษียณนั้น แทนที่จะต้องตั้งสำรองจ่ายเต็มๆ เราก็คำนวณโดย หลักคณิตศาสตร์ประกันภัย แล้วลดทอนด้วยหลักความน่าจะเป็น (ที่มีโอกาสไม่จ่าย) และ หลักการลงทุนดอกเบี้ยทบต้น( ที่มีโอกาสให้เงินทำงานงอกเงยดอกเบี้ยหนี้ก้อนที่คิดว่าจะต้องตั้งสำรองเต็มๆ จึงถูกลดทอนด้วยการคำนวณทาง คณิตศาสตร์ประกันภัย โดยประมาณไปในอนาคตระยะยาว ทำให้ไม่ต้องตั้งสำรองเต็ม บริษัทจึงสามารถตั้งหนี้สินได้น้อยลงไปเยอะ ถึงจะซับซ้อนแต่ก็มีประโยชน์มากนะครับ ซึ่งการคำนวณผลประโยชน์พนักงานดังกล่าว เราสามารถจัดจ้าง นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาคำนวณให้ได้

ดังนั้น กิจการที่มีส่วนได้เสียต่อสาธารณะ (PEA) จึงควรใช้การประมาณการโดย นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เพื่อที่จะได้เปิดเผยข้อมูลลักษณะธรรมชาติของภาระผูกพันอย่างละเอียดต่อผู้มีส่วนได้เสีย


และจากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการคำนวณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นส่งผลต่อสถานภาพทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญจึงต้องมีการสอบใบคุณวุฒิเพื่อรับรองความสามารถ และให้มั่นใจว่าตัวเลขดังกล่าวสามารถเชื่อถือได้ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่ จึงเป็นคนที่มีคุณวุฒิในการประกอบวิชาชีพนี้โดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (The Societies of Actuaries of Thailand) www.soat.or.th




เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

ดู 503 ครั้ง
แองเคอ 1
แองเคอ 2
แองเคอ 3
bottom of page