top of page

TFRS 9 หลักการอย่างง่าย พร้อมตัวอย่างสำหรับประเมิน ECL



สารบัญ


3 หลักการใหญ่ของเนื้อหาของ TFRS 9 / IFRS 9

มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เรียกว่า TFRS 9 / IFRS 9 มีการปรับปรุงหลักการและวิธีการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงของกิจการโดยมองภาพรวมถึงอนาคตมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้บังคับใช้ไปตั้งแต่ปี 2563 แล้ว บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะในไทย (PAEs) ก็ต้องนำหลักการของ TFRS 9 / IFRS 9 มาใช้ โดยแบ่งเนื้อหาสำคัญออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) การจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน เช่น เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ รวมทั้งเงินลงทุนประเภทต่าง ๆ 2) กำหนดการรับรู้การด้อยค่าใหม่ของสินทรัพย์ทางการเงิน 3) การทำบัญชีป้องกันความเสี่ยง

เนื้อหาหลักของ TFRS 9 นั้นจะเน้นไปที่การจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงินทุกชนิด และหลังจากวัดมูลค่าได้แล้วจึงค่อยมาพิจารณาการประเมินค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้สำหรับเครื่องมือทางการเงินบางประเภท ที่เรียกชื่อใหม่กันว่า การประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) นั่นเอง


TFRS 9 / IFRS 9 กระทบกับทุกธุรกิจ

ดังนั้น TFRS 9 / IFRS 9 จะกระทบกับทุกธุรกิจ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ จะมีเงินลงทุนในตราสารหนี้และมีลูกหนี้การค้า ซึ่งต้องมีการพิจารณาเครดิตของลูกหนี้อยู่ด้วย (ค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นธุรกิจสถาบันการเงินก็จะยิ่งมีผลกระทบ เพราะสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ถือไว้ก็จะเป็นการปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ ให้กับลูกค้า ทำให้ต้องมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เป็นจำนวนที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผลกระทบที่ว่านี้เกิดจากหลักการที่บริษัทต้องกันเงินสำรองจากการให้กู้ยืมเงินเร็วขึ้น และต้องตั้งประมาณค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ หรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ตั้งแต่วันแรก โดยพิจารณาสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทำสัญญาวันแรกจนสิ้นสุดสัญญา ซึ่งจะแตกต่างกับหลักการในสมัยก่อนที่ให้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเมื่อมีข้อบ่งชี้การด้อยค่าเกิดขึ้น (เมื่อก่อนวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก แต่เดี๋ยวนี้ต้องการให้ล้อมคอกก่อนวัวหาย)

ดังนั้นจะเห็นว่า บริษัทจะได้รับผลกระทบทั้งด้านการเงินและผลการดำเนินงาน เพราะต้องตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้หรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ซึ่งอาจจะเพิ่มสูงขึ้น โดยต้นทุนเหล่านี้ก็จะสะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของธุรกิจให้แม่นยำและโปร่งใสขึ้น


ความแตกต่างของค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ระหว่าง มาตรฐานเดิมที่ใช้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ กับ TFRS 9 ที่ใช้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL)

หลักการที่ว่านี้ก็เลยเปลี่ยนจากการตั้งสำรองเดิม ที่เรียกว่า ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (ถ้ามีแนวโน้มว่าจะเกิดแล้วค่อยตั้ง) เป็นการมองไปข้างหน้าจนสิ้นสุดสัญญา ที่เรียกว่า ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ถึงแม้ข้อมูลในอดีตจะไม่เคยมีหนี้สงสัยจะสูญมาก่อน แต่ในอนาคตคาดว่าอาจจะมีก็ได้) โดยในเหตุการณ์ข้างหน้านั้น จะมีตัวแปรชื่อว่า Probability of Default (PD) เรียกง่าย ๆ ว่า “ความน่าจะเป็นในการที่ลูกค้าจะเบี้ยวหนี้” ตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติว่าโอกาสที่ลูกค้าจะเบี้ยวหนี้ ในงวดแรก คือ 1% และงวดที่สอง คือ 2% และงวดที่สาม คือ 3% ซึ่งจำนวนหนี้ที่ลูกค้าจะเบี้ยว คือ 1 ล้านบาท


ตัวอย่างการประเมินอย่างง่ายของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ

ในสมัยก่อน เราก็แค่ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญโดยใช้ 1% คูณด้วย 1,000,000 บาท เท่ากับ 10,000 บาท และพอผ่านไปอีก 1 งวด ก็ค่อยมาตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญใหม่ โดยงวดที่สองก็ตั้งที่ 2% ซึ่งเท่ากับ 20,000 บาท และถ้าถึงตอนนั้น สภาพหนี้ยังดีอยู่จนอยู่รอดได้ถึงงวดที่สาม การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในตอนนั้น จึงค่อยมาตั้งที่ 3% ซึ่งเท่ากับ 30,000 บาท นี่คือการตั้งสำรองแบบเดิม ที่เมื่อถึงเวลาค่อยมาตั้ง และมองภาพไปข้างหน้าเพียงระยะสั้นแค่งวดเดียว ซึ่งปกติใน 1 งวดก็นิยมให้เป็น 1 ปี หรือน้อยกว่า 12 เดือน เป็นต้น


ตัวอย่างการประเมินอย่างง่ายของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL)

ส่วนใน TFRS 9 / IFRS 9 นั้น เวลาจะตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้หรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพื่อให้รับรู้การด้อยค่าใหม่นั้น จะต้องมองไปข้างหน้าให้ครอบคลุมถึงทุกงวด เช่น ในตัวอย่างข้างต้นนี้ก็จะต้องครอบคลุมไปถึง 3 งวด (ตลอดงวดอายุของสัญญา) แต่เวลามองการประเมินให้นึกภาพที่เรามองไปข้างหน้าให้ครอบคลุมเงื่อนไขในการจ่ายก่อน แล้วจึงคิดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งเวลาเราหมุนเวลาไปข้างหน้าในแต่ละปี ก็จะต้องประเมินหาค่าความน่าจะเป็นในการอยู่รอด (Survival Factor) เข้าไปด้วย เพราะในการประมาณการไปข้างหน้า ถ้าในอนาคตมีงวดไหนที่เป็นหนี้สูญไปแล้ว เราก็ถือว่าสัญญาสิ้นสุดเช่นกัน


2 สิ่งที่ต้องพิจารณาในการสร้างโมเดลสำหรับการประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL)

เนื่องจากการประมาณการข้างหน้าของ TFRS 9 / IFRS 9 ต้องประเมินไปจนครบกำหนดสัญญา (ไม่ว่าจะเป็นวิธีการ General Approach แบบ stage 2 เป็นต้นไป หรือ Simplified Approach ก็ตาม) และเกี่ยวข้องกับหลักการนำสถิติมาตั้งสมมติฐานในอนาคต ในการทำโมเดล หรือแบบจำลอง TFRS 9 / IFRS 9 นี้ จะสอดคล้องกับแบบจำลองที่เกี่ยวข้องกับหลักการ 2 อย่าง คือ Probability (P) ความน่าจะเป็นที่อาศัยข้อมูลสถิติมาเกี่ยวข้อง และ Financial Mathematics (FM) คณิตศาสตร์การเงินที่เอาไว้สะท้อนมูลค่าเงินตามเวลา ซึ่งทั้ง 2 หลักการ เป็นส่วนประกอบหลักที่ต้องนำมาใช้สร้างแบบจำลอง TFRS 9 / IFRS 9

อนึ่งสำหรับการประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบัญชีลูกหนี้การค้านั้น ถ้าระยะเวลาตั้งแต่วันครบกำหนดชำระจนถึงวันที่ทวงหนี้ไม่ได้อีกแล้วนั้น ไม่ได้ยาวนานอย่างมีนัยสำคัญ ก็สามารถมองข้ามเรื่อง การสะท้อนมูลค่าเงินตามเวลาได้


บทสรุป หลักการอย่างง่ายของ TFRS 9

เนื้อหาหลักของ TFRS 9 นั้นจะเน้นไปที่การจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงินทุกชนิด และหลังจากวัดมูลค่าได้แล้วจึงค่อยมาพิจารณาการประเมินค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้สำหรับเครื่องมือทางการเงินบางประเภท ที่เรียกชื่อใหม่กันว่า การประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss)

ความแตกต่างจากมาตรฐานตัวเก่าก็คือเมื่อก่อนวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก (ที่แค่ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) แต่ TFRS 9 ต้องการให้ล้อมคอกก่อนวัวหาย (ให้ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น) โดย TFRS 9 / IFRS 9 จะกระทบกับทุกธุรกิจ ผลกระทบที่ว่านี้เกิดจากหลักการที่บริษัทต้องกันเงินสำรองจากการให้กู้ยืมเงินเร็วขึ้น และต้องตั้งประมาณค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ หรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ตั้งแต่วันแรก ซึ่งจะแตกต่างกับหลักการในสมัยก่อนที่ให้กันค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเมื่อมีข้อบ่งชี้การด้อยค่าเกิดขึ้น

แบบจำลองที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) จึงทำให้ต้องนำหลักการ 2 อย่าง มาใช้ นั่นคือ Probability (P) ความน่าจะเป็นที่อาศัยข้อมูลสถิติมาเกี่ยวข้อง และ Financial Mathematics (FM) คณิตศาสตร์การเงินที่ต้องคิดมูลค่าตามเวลา

 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

สนใจประเมิน TFRS 9 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ประสบการณ์ยาวนานและประเมินจริงกว่า 300 บริษัท ด้วยความคุ้มค่าเกินราคา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุภิชา (087-100-7199) หรือ อาจารย์ทอมมี่ (082-899-7979)


ตัวอย่างรายชื่อลูกค้า (Our Clients) สามารถดูตัวอย่างเสียงตอบรับจากผู้ใช้บริการการประเมินของเราได้ที่




ดู 11,427 ครั้ง

Comments


แองเคอ 1
แองเคอ 2
แองเคอ 3
bottom of page