บทที่ 1 – การแยกองค์ประกอบของสัญญาประกันภัย (Separation of Insurance Contract)
เป็นเรื่องทั่วไปที่แต่ละมาตรฐานการรายงานทางการเงินจะมีการกำหนดขอบเขตของสัญญาประกันภัย ว่าอะไรที่เข้าข่ายมาตรฐานนี้ และอะไรที่ไม่เข้าข่าย ซึ่งใน TFRS17 เองก็ได้กำหนดถึงขอบเขตของตัวเองว่า อะไรที่เข้าข่ายว่าจะต้องนำมาพิจารณาสำหรับ TFRS17 บ้าง เช่น ส่วนประกอบที่เป็นส่วนของความคุ้มครอง และส่วนของการลงทุนที่แยกออกมาจากส่วนของประกันภัยไม่ได้ (Non Distinct Investment Component) เป็นต้น
โดยในบทแรกนี้เขียนขึ้นมาเพื่อจำแนกและชำแหละลักษณะของสัญญาประกันภัยต่าง ๆ ว่าอาจจะมีส่วนประกอบอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ TFRS17 มาเจือปนได้ ซึ่งส่วนประกอบอื่นที่มาเจือปนนี้ส่วนใหญ่มาจากสัญญาประกันชีวิตที่มีส่วนเพิ่มเติมของการลงทุนหรือพวกบริการอื่น ๆ ที่ผนวกเข้ามาพร้อมกับความคุ้มครองประกันชีวิต
ดังนั้น ในบทนี้จึงเน้นที่จะดึงและแยกแยะส่วนที่เป็นเฉพาะความคุ้มครองออกมา ส่วนนี้จึงไม่ค่อยมีปัญหากับทางธุรกิจประกันวินาศภัยเท่าไร เพราะมันตรงตัวของมันอยู่แล้ว (ในทางกลับกันมันถูกเขียนขึ้นมาให้ครอบคลุมสำหรับประกันชีวิตมากกว่า)
Separation of Insurance Contract นี้ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน คือ
องค์ประกอบที่เป็นการประกันภัย (Insurance Component)
อนุพันธ์แฝง (Embedded Derivatives)
องค์ประกอบที่เป็นการลงทุน (Investment Component)
สัญญาในการโอนสินค้าหรือบริการที่ไม่ใช่การประกัน (Promises to Transfer Goods or Non-Insurance Services)
ในส่วน Insurance Component นั้นก็แปลตรงตัวกันอยู่แล้วว่ามันคือ องค์ประกอบที่เป็นการประกันภัย ก็คืออะไรที่เน้นความคุ้มครองเป็นหลัก หรือถ้าให้เป็นภาษาที่ง่ายกว่านั้นก็คือ อะไรที่มีทุนประกันภัยที่จะจ่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์นั้นก็เรียกว่าเป็น Insurance Component ได้
ในส่วนของ Embedded Derivative นั้น จะไม่ค่อยเกี่ยวกับแบบประกันของทางธุรกิจประกันวินาศภัยเท่าไร เพราะมันเป็นตราสารอนุพันธ์แฝงที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับสัญญาประกันภัยที่มีการลงทุนอยู่ข้างในด้วย เช่น
1. พวก Callable Bond (คือพันธบัตรที่ลูกหนี้สามารถเอาเงินต้นคืนให้กับเจ้าหนี้ได้เสมอ และหยุดจ่ายดอกเบี้ยในทันที)
2. พวก Interest Rate Swap ที่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ต้องใช้ความรู้ทางวิศวกรรมการเงิน
ที่เป็นการแลกเปลี่ยนจากดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) ไปเป็นดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate)
หรือจากดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ไปเป็นดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) เป็นต้น
3. พวก Currency Swap ที่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ต้องใช้ความรู้ทางวิศวกรรมการเงิน
ที่เป็นการแลกเปลี่ยนจากอัตราค่าเงินสกุลหนึ่งไปเป็นเงินอีกสกุลหนึ่ง
ซึ่งถ้าเราเอาเรื่องของ Embedded Derivative มาประยุกต์กับธุรกิจประกันภัย เท่าที่เป็นไปได้ก็จะมีแบบประกันภัยบางประเภทที่มีโอกาสเข้าข่ายได้ เช่น
1. GMXB ของประกันชีวิต เช่นพวก Guarantee Minimum Benefit ของอะไรต่าง ๆ ของพวกประกันพ่วงการลงทุน
ไม่ว่าจะเป็น Unit Linked หรือ Universal Life เป็นต้น
2. แบบประกันที่เบี้ยประกันภัยที่เก็บมานั้นนำไปลงทุนกับสกุลเงินในประเทศ แต่ตัวทุนประกันภัยเป็นสกุลเงินต่างประเทศ
ซึ่งแบบนี้เราจะเรียกว่า เป็นพวกที่ สินทรัพย์และหนี้สินมี Currency หรือสกุลเงินที่ต่างกัน
ซึ่งมันก็เหมือนกับการไปการันตีหนี้สินในอีกสกุลเงินหนึ่งที่แตกต่างจากฝั่งสินทรัพย์
ตัว Embedded Derivative ในบทแรกนี้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของประกันวินาศภัยเท่าไรนัก แต่จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิตเสียมากกว่า และแทบจะไม่มีให้เห็นในประกันชีวิตในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ สรุปว่าถ้าใครอ่าน Embedded Derivative แล้วรู้สึกสับสนหรือไม่เข้าใจ ก็สามารถข้ามส่วนนี้ไปได้โดยไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ได้มีผลกับธุรกิจประกันวินาศภัยโดยตรงครับ
ในส่วนถัดไปที่หลายคนค่อนข้างจะสับสนกันก็คือส่วนของการแยกแยะ Investment Component ซึ่งในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันเพราะธุรกิจประกันส่วนใหญ่จะเกิดจากการเอาเงินมาฝากก่อน เพื่อจะต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทน และไว้จ่ายเคลมในอนาคต โดยจะเห็นได้ชัดเจนมากในธุรกิจประกันชีวิต
Investment Component นั้นสามารถแจกแจงออกมาได้ 2 แบบ คือ แบบที่แยกการลงทุนออกมาได้ชัดเจน กับแบบที่แยกการลงทุนออกมาได้อย่างไม่ชัดเจน เป็นต้น
ส่วนที่ Distinct (ส่วนที่แยกการลงทุนออกมาได้อย่างชัดเจน) ก็หมายถึง การลงทุนโดยตรง เช่น พวก Unit Linked ที่มี Unit Account หรือ Account Value (มูลค่าบัญชี) โดยตรงได้ตั้งแต่วันแรก โดยจุดสำคัญที่จะบอกว่ามันแยกการลงทุนออกมาได้อย่างชัดเจนคือ การที่สามารถเห็นมูลค่าเพื่อประเมินการถอนจ่ายได้เลย หรือการที่เห็นได้ชัดเลยว่าส่วนลงทุนของผู้ถือกรมธรรม์ตอนนี้มีอยู่เท่าไร เป็นต้น ดังนั้น ส่วนนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย เว้นเสียแต่ว่า แบบประกันของธุรกิจประกันวินาศภัยจะทำเป็นแบบ Unit Linked ที่พ่วงการลงทุน (ในอนาคตอันไกลโพ้น) นั่นเอง
อีกส่วนแบ่งเป็นส่วน Non Distinct ซึ่งเหมือนมันฝังเรื่องของการลงทุนเข้าไปอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเภทที่มีเงินคืนกลับไปให้ลูกค้า โดยในส่วนของประกันวินาศภัยจะมีที่เกี่ยวข้องก็ตอนที่แบบประกันนั้นมีลักษณะที่เป็นสัญญาระยะยาวแบบ Return of Premium (ROP) ที่มีการคืนเบี้ยให้เมื่อครบกำหนดสัญญา หรือไม่ก็เป็นพวก Experience Refund ที่ถือว่าแฝงอยู่ในส่วน Non Distinct นี้ (เรียกภาษาทางการว่า Non Distinct Investment Component) ที่เหมือนกับการฝากเงินเก็บไว้ก่อนและจ่ายคืนให้ทีหลังแบบอ้อมๆ
ประเด็นสำคัญคือ ส่วนที่เป็น Distinct Investment Component นั้น จะไม่เข้าข่าย TFRS17 แต่จะถือเป็นเรื่องเครื่องมือทางการเงินแทน ในมาตรฐานรายงานทางการเงิน TFRS9 แต่ส่วนที่เป็น Non Distinct Investment Component นั้น จะยังถือเป็น TFRS17 อยู่
ทั้งนี้ ในการตีความเพื่อให้ง่ายกับการดำเนินการของธุรกิจประกันวินาศภัยนั้น เราสามารถตีความ No Claim Bonus (NCB) ให้เป็นเหมือนส่วนลดเบี้ยประกันไปเลย สิ่งเหล่านี้สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ โดยที่ไม่ต้องหยิบมันเข้ามาจัดประเภทเป็น Non Distinct Investment Component ให้ยุ่งยาก
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกันชีวิต (เผื่อประกันวินาศภัยในอนาตคอยากทำบ้าง) ก็จะเป็นจำพวก Equity Index Link หรือ Gold Index Link ที่กรมธรรม์ระบุว่าจะมีการจ่ายเงินคืนตามผลประกอบการของหุ้นหรือทองคำที่ลงทุนไปเป็นต้น
ส่วนสุดท้ายของบทแรกคือ Distinct Goods and Services (Promises to Transfer Goods or Non-Insurance Services) โดยมันจะเข้าข่ายของ TFRS15 ซึ่งเป็นเรื่องการรับรู้รายได้แทน ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นพวกบริการเสริมต่างๆ ที่เหมือนส่วน Add on พ่วงเข้ามากับเบี้ยประกันภัย เช่น บริการ Medical Service ที่แยกชำระค่าบริการได้เพิ่มเติมแยกต่างหาก แต่ส่วนนี้จะไม่ค่อยพบเห็นในธุรกิจประกันวินาศภัยเท่าไรนัก เพราะปกติจะไม่ได้เรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากบริการเสริมเหล่านี้กันอยู่แล้ว
โดยสรุปแล้ว บทแรกนี้ คือการที่มาตรฐานต้องการให้ Scope ในส่วนของ Insurance Component ออกมาไว้ แต่ถ้าจะมีส่วนที่เป็นปลายติ่งที่เกี่ยวกับ TFRS17 ก็จะเป็น Non Distinct Investment Component ซึ่งเวลาลงบัญชีนั้น จะไม่ได้เข้าไปอยู่ในบรรทัดบนสุด (ไม่ได้อยู่บน Revenue and Service Expense)
ยกตัวอย่างของ Non Distinct Investment Component แบบ Return of Premium (ROP) ของแบบประกันวินาศภัย สมมติว่า เบี้ยประกันคือ 1,000 บาท (จ่ายเบี้ยครั้งเดียว) ระยะเวลาของสัญญาคือ 10 ปี แล้วตอน Return of Premium คือ 100 บาท ที่ปลายปีที่ 10 บริษัทประกันวินาศภัยจะลงบัญชีรับรู้รายได้ ปีละ 90 บาท (1,000 ลบ 100 บาท และหารเฉลี่ย 10 ปี) และทยอยรับรู้ไปเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งหมายถึงตลอด 10 ปี จะรับรู้สะสมเป็นรายได้ 900 บาท ซึ่ง 100 บาทที่หายไปในระหว่างทางนั้น (จากที่ควรรับรู้จนถึง 1,000 บาท ก็ทำได้แค่รับรู้แค่ 900 บาท) จะไปหักล้างกับ 100 บาทที่ต้อง Return of Premium นั่นเอง
เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
แนวปฏิบัติและการตีความ TFRS17 สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ตอนที่ 1
แนวปฏิบัติและการตีความ TFRS17 สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ตอนที่ 2
แนวปฏิบัติและการตีความ TFRS17 สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ตอนที่ 4
แนวปฏิบัติและการตีความ TFRS17 สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ตอนที่ 5
แนวปฏิบัติและการตีความ TFRS17 สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ตอนที่ 6
Comentarios